เนื่องในวันวิสาขบูชาโลก




ปฏิญญากรุงเทพฯ ๒๕๕๘
การประชุมชาวพุทธนานาชาติ ครั้งที่ ๑๒

เนื่องในวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก
ระหว่างวันที่ ๒๘ – ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๘
ณ สำนักงานใหญ่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วังน้อย อยุธยา
และศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ

เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๒ ผู้แทน ๓๔ ประเทศได้เสนอต่อที่ประชุมสมัชชา สหประชาชาติให้วันวิสาขบูชา ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือนพฤษภาคม เป็นวันสำคัญสากลของโลก และขอให้มีการจัดงานฉลองที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ และสำนักงานประจำ ภูมิภาคต่างๆ ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติได้มีมติรับรองตามนั้น (ในสมัยที่ ๕๔ วาระที่ ๑๗๔) ดังนั้น วันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก จึงได้ก่อกำเนิดขึ้นในปี ๒๕๔๓ ด้วยความร่วมมือของชาวพุทธทุกนิกาย

เพื่ออนุวัตรตามมติที่ประชุมสหประชาชาติ พวกเราจาก ๘๕ ประเทศและภูมิภาค จึงได้มาร่วมกันฉลองวันประสูติ วันตรัสรู้ วันดับขันธปรินิพพาน ระหว่างวันที่ ๒๘ – ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๘ ดังเช่นหลายปีที่ผ่านมา งานฉลองจัดโดยมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากรัฐบาลไทย ภายใต้ ความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมแห่งประเทศไทย ในช่วงที่มีงานฉลองวิสาขบูชานี้ พวกเรา ได้มาร่วมกันพิจารณาตามหัวข้อการประชุมว่าด้วยเรื่อง “พระพุทธศาสนากับวิกฤติของโลก” อันเป็นการเสริมสร้างความเข้าใจและความร่วมมือร่วมกันระหว่างองค์กร และปัจเจกบุคคล ต่างๆ จากพระพุทธศาสนาทุกนิกาย เมื่อเสร็จสิ้นงานฉลองและงานประชุม ที่ประสบ ผลสำเร็จของพวกเราแล้ว พวกเราได้มีมติเป็นเอกฉันท์ ดังต่อไปนี้

๑. จัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับสากล เพื่อเฉลิมพระเกียรติ ๖๐ พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

๒. จัดทำสหบรรณานุกรมทางพระพุทธศาสนา ระยะที่ ๑ ที่จะเชื่อมบรรณานุกรม พระไตรปิฎกทุกฉบับเข้าด้วยกันด้วยระบบออนไลน์ รวมทั้งจัดทำเว็บไซท์บรรณานุกรม ที่ใช้ เทคนิคชั้นสูง สำหรับพระไตรปิฎกมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ทั้งฉบับบาลีและฉบับแปล เป็นภาษาไทย เพื่อเฉลิมพระเกียรติ ๖๐ พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

๓. เพื่อแก้ไขวิกฤติของโลกทุกรูปแบบ กระตุ้นเตือนให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง (ก) ใส่ใจ ต่อหลักปฏิจจสมุปบาท ที่เกี่ยวกับการอิงอาศัยกันระหว่างสรรพสัตว์กับสรรพสัตว์ และกับ สิ่งแวดล้อม (ข) ส่งเสริมให้มองโลกในแง่ดีว่า เราสามารถเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส โดยอาศัย ปัญญาและกรุณา

๔. กระตุ้นเตือนปัจเจกชนทุกคน โดยเฉพาะผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ ให้ส่งเสริมการพัฒนาสตรี ทั่วโลก

๕. กระตุ้นเตือนให้หน่วยงานรัฐบาลและองค์การนอกภาครัฐทั้งหมด ลงทุนด้านการศึกษา ให้มากยิ่งขึ้น ด้วยการส่งเสริมการศึกษาเจริญสติ ความหลากหลายด้านศาสนา คุณค่าทาง จริยธรรมและการพัฒนาจิตใจ ให้แก่เยาวชนและสังคมส่วนรวม เช่น ส่งเสริมโครงการ หมู่บ้านรักษาศีลห้าในประเทศไทย

๖. ส่งเสริมการการพัฒนาจิตใจส่วนบุคคลและการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง ในระดับสังคม เศรษฐกิจ กฎหมายและการเมือง โดยอาศัยการใช้ชีวิตเรียบง่าย มีหลักจริยธรรมที่ดีงาม เพื่อจะสร้างชุมชนมีสภาพแวดล้อมทางนิเวศวิทยาแบบยั่งยืน ที่ใส่ใจถึงภาวะโลกร้อน และ ความเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อม เพื่อเกื้อหนุนให้เพื่อนมนุษย์อยู่ร่วมโลกกันได้ โดยไม่เอารัด เอาเปรียบกัน กระตุ้นเตือนให้ประชาคมโลกส่งเสริมการตระหนักรู้เรื่องการอิงอาศัยกัน ระหว่างมนุษย์และสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ

๗. เรียกร้องให้มีความพยายามในการบรรเทาทุกข์ สำหรับภัยธรรมชาติและภัยแล้งต่างๆ เช่น ที่เกิดแผ่นดินไหวที่ประเทศเนปาลเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งชุมชนชาวพุทธทั่วโลกได้ให้การช่วยเหลือ และกระตุ้นเตือนให้ชาวพุทธทั่วโลกร่วมกันระดมทรัพยากรมาปฏิบัติการ ช่วยเหลือบรรเทา ทุกข์ด้วยความกรุณา

๘. กระตุ้นเตือนให้รัฐบาลและภาคประชาชนในประชาคมอาเซียน พร้อมทั้งประเทศเพื่อน บ้านหาทางแก้ไขสถานการณ์ที่ล่อแหลมและระบบนิเวศที่เปราะบางในลุ่มแม่น้ำโขง

๙. สนับสนุนผู้นำชาวพุทธดำเนินการพบปะแลกเปลี่ยนกับศาสนาอื่นให้มากยิ่งขึ้น เพื่อ ส่งเสริมความเข้าใจ ความปรองดอง ความเคารพ การสร้างสันติภาพ และความสามัคคี เพื่อ สร้างสังคมที่เป็นปึกแผ่นยิ่งขึ้น ภายในประชาคมอาเซียนและประเทศอื่นๆ

๑๐. เพื่อแก้ไขปัญหาสังคม เช่น ยาเสพติดให้โทษ การใช้ความรุนแรงต่อคนกลุ่มน้อย และการ ใช้ความรุนแรงภายในครอบครัว ให้ใช้หลักการที่มีอยู่ในนิกายต่างๆ ของพระพุทธศาสนา เช่น การเจริญสติ กรุณา ปัญญา ความรับผิดชอบต่อตนเอง ความเคารพต่อชีวิตและผู้คนทั้งหมด โดยไม่มีการแบ่งแยกเพราะสถานะทางสังคมและเพศ ยกตัวอย่างเช่น การสอนสติปัฏฐาน เพื่อแก้ไข พฤติกรรมของนักโทษ


© 2015 undv.org / United Nations Day of Vesak
More information please contact:
ICDV & IABU Office
401,Zone D, D400 4th floor, School Building,
Mahachulalongkornrajavidyalaya University Lamsai, Wang Noi, Ayutthaya 13170
Tel: + 662 623 6323, 66 35 248 098 Fax: + 66 35 248 099
Email: vesak.undv@gmail.com