วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า วัดพระแก้ว เป็นวัดที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2325 อาณาเขต ทิศเหนือ ติดถนนหน้าพระลาน ทิศใต้ ติดพระบรมมหาราชวัง ทิศตะวันออก ติดถนนสนามไชย ทิศตะวันตก ติดสำนักงานทรัพย์สินแห่งชาติ

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือเรียกสามัญว่า วัดพระแก้ว เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2325 พร้อมกับการสร้างพระบรมมหาราชวัง และกรุงรัตนโกสินทร์ สืบตามราชประเพณีการสร้างพระอารามในพระราชฐานสมัยกรุงศรีอยุธยา

โดยมีพระราชประสงค์จะให้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิทำด้วยมณีสีเขียวสดใสเนื้อเดียวกันทั้งองค์ หน้าตักกว้าง 48.3 เซนติเมตร สูงจากฐานถึงยอดพระเศียร 66 เซนติเมตร ซึ่งทรงมีพระราชศรัทธาเคารพเลื่อมใสเป็นที่ยิ่ง ทั้งยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานพระนามใหม่ให้ต้องกับการมีพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรพระองค์นี้เป็นศิริสำหรับพระนครว่า “กรุงรัตนโกสินทร์อินท์อโยธยา” อันมีความหมายว่า “เป็นที่เก็บรักษาไว้ขององค์พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร” รัชกาลที่ 1 ทรงสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามพร้อม ๆ กับการสร้างพระราชมณเฑียรและป้อมปราการในพระบรมมหาราชวัง แต่สิ่งก่อสร้างในพระบรมมหาราชวังครั้งแรกนั้นเป็นเครื่องไม้ทั้งสิ้น เว้นแต่วัดพระแก้วเท่านั้นที่ก่ออิฐถือปูน

วัดพระแก้วสร้าง 2 ปีก็เสร็จลงในปี พ.ศ. 2327 ภายในวัดประกอบด้วยพระอุโบสถ ( มีภาพเขียนฝาผนัง ) พระระเบียงรอบวัด ( ผนังเขียนเรื่องรามเกียรติ์ ) หอมณเฑียรธรรมตั้งอยู่กลางสระน้ำด้านเหนือของพระอุโบสถ พระเจดีย์ทอง 2 องค์ ตั้งอยู่หน้ามณเฑียรธรรม หอระฆังตั้งอยู่ด้านขวาของพระอุโบสถ ระฆังซึ่งนำมาจากวัดสระเกศ ศาลาราย 12 หลัง และทรงโปรดให้เชิญพระเทพบิดา คือ พระรูปสมเด็จพระรามาธิบดี (อู่ทอง) ซึ่งเป็นปฐมวงศ์สร้างกรุงเก่า มาแปลงเป็นพระพุทธรูปหุ้มเงิน ปิดทอง ประดิษฐานไว้ในพระวิหาร พระวิหารนั้นพระราชทานนามว่า “หอพระเทพบิดร”

วัดพระศรีรัตนศาสดารามได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาโดยตลอด การบูรณะครั้งใหญ่ทั้งพระอาราม มีขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเนื่องจากวัดชำรุดทรุดโทรมลงมาก และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้มีการบูรณะเพื่อเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 100 ปี ใน พ.ศ. 2425

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ทั้งพระอารามในโอกาสที่มีพระราชพิธีฉลองพระนครครบ 150 ปี และในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์ทั้งพระอารามอีกครั้งใน พ.ศ. 2525 เมื่อมีการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปีโดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเป็นองค์ประธานในการบูรณะ



สถาปัตยกรรมที่สำคัญ

พระอุโบสถ


เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสูงชั้นเดียวรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าจัตุรัส สูง 14 วา 2 ศอก 6 นิ้ว ประมาณ 30 เมตร ระเบียงพระอุโบสถมีขนาดกว้าง 23.60 เมตร ยาว 55.12 เมตร มีมุขลดด้านหน้าและด้านหลัง โครงสร้างหลังคาเป็นไม้ มุงด้วยกระเบื้องดินเผาเคลือบสี พื้นหลังคาสีน้ำเงิน ขอบหลังคาสีเหลืองเชิงแดง มีช่อฟ้าใบระกา หางหงส์ นาคสะดุ้งปิดทองประดับกระจกสีทอง เชิงชายเป็นไม้ทาสีแดงประดับด้วยไม้แกะลายรูปดอกจอก ปลายเชิงชายแขวนกระดึงโพธิโดยรอบ หน้าบันเป็นไม้จำหลักลายรูปพระนารายณ์ทรงครุฑยุดนาค ปิดทองบนพื้นกระจกสีน้ำเงิน มีลายกระหนกเครือเถาปิดทองเป็นลายก้านขด ปลายลายเป็นเทพนมประดับโดยรอบ มีระเบียงเดินได้รอบโดยมีหลังคาปีกนกเป็นพาไลคลุมรองรับด้วยเสานางเรียงปิดทองประดับกระจกทั้งต้น พื้นปูหินอ่อน พนักระเบียงทำเป็นลูกฝักประดับกระเบื้องเคลือบสีเขียนลาย

ผนังพระอุโบสถด้านนอกเดิมเขียนลายรดน้ำบนพื้นสีแดงชาด ในรัชกาลที่ 3 โปรดให้ซ่อมแซมเป็นลายพุ่มข้าวบิณฑ์ดินเผา ปิดทองประดับกระจก ซุ้มประตูหน้าต่างเป็นทรงมณฑปปิดทองประดับกระจก บานประตูหน้าต่างทั้งหมดประดับมุกฝีมือช่างครั้งรัชกาลที่ 1 ที่หน้ากระดานฐานปัทม์ของพระอุโบสถประดับรูปครุฑจับนาคหล่อโลหะปิดทอง มีบันไดขึ้นสู่พระอุโบสถด้านหน้าและด้านหลัง ด้านละ 3 บันได เชิงบันไดมีรูปสิงห์หล่อด้วยสำริดยืนแท่นประจำบันไดละ 1 คู่ รวม 12 ตัว มีราวเทียนหล่อด้วยทองแดงตั้งรอบพระอุโบสถทั้ง 4 ด้าน

ภายในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ประดิษฐานบนบุษบกไม้หุ้มทองซึ่งตั้งอยู่บนเบญจา 3 ชั้น ด้านหน้าชุกชีประดิษฐานพระพุทธรูปฉลองพระองค์ในรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 2 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาเจษฎาบดินทร์พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างและมีพระสัมมาพุทธพรรณีประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีด้านหน้า ที่ผนังพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมทั้ง 4 ด้าน ผนังหุ้มกลอง ด้านหน้าเป็นภาพมารผจญ ด้านหลังเป็นภาพไตรภูมิ ด้านข้างเขียนเป็นภาพปฐมสัมโพธิและขบวนพยุหมาตราทรงสถลมารคและทางชลมารค ภาพจิตรกรรมที่เขียนนี้เขียนครั้งแรกในรัชกาลที่ 1 และเขียนซ่อมเพิ่มเติมในรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4

รอบพระอุโบสถล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วประดับกระเบื้องเคลือบสีมีลวดลาย และมีซุ้มเสมาตั้งประจำ 8 ทิศ เป็นเสมาโลหะ 1 คู่ อยู่ในบนฐานปัทม์ปิดทองประดับกระจก ตุ๊กตาหินตั้งประดับด้านนอกนั้นเป็นตุ๊กตาหินแบบจีน เป็นอับเฉาเรือของเรือสำเภาจีนในรัชกาลที่ 3

ศาลาราย


เป็นศาลาหลังเล็ก ตั้งอยู่รอบนอกกำแพงแก้วพระอุโบสถ มีจำนวน 12 หลัง อยู่ทางด้านหน้าและด้านหลังด้านละ 2 หลัง ด้านข้างพระอุโบสถด้านละ 4 หลัง ใช้สำหรับพิธีสวดมหาชาติคำหลวง ลักษณะของศาลารายทั้ง 12 หลังจะเหมือนกันหมดทั้งศิลปะ ลวดลายและขนาด คือ เป็นศาลาโถงขนาด 2 ห้อง หลังคาทรงไทย มุงด้วยกระเบื้องเคลือบดินเผา ขอบหลังคาสีส้ม พื้นหลังคาสีน้ำเงิน หน้าบันเป็นรูปเทพนมบนพื้นกระจกสีขาว มีลายกระหนกประกอบโดยรอบบนกระจกพื้นสีน้ำเงินประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และนาคสะดุ้งทำด้วยไม้ มีคันทวยเป็นไม้จำหลักลายพญานาครองรับชายคารโดยรอบ เพดานศาลาฉลุลาย ปิดทองบนพื้นสีแดง เสาสี่เหลี่ยมรอบศาลาฉาบปูนย่อเหลี่ยม ระหว่างเสาเป็นคูหา โค้งตอนมุม พื้นศาลาปูด้วยหินอ่อนตลอดทั้ง 2 ระดับ

พระศรีรัตนเจดีย์


พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างพระเจดีย์ทอง เมื่อ พ.ศ.2398 โดยจำลองตามแบบจากพระมหาสถูปเจดีย์ในวัดพระศรีสรรเพชญที่พระราชวังกรุงศรีอยุธยา วัดรอบฐานเจดีย์ยาว 55.55 เมตร ตั้งอยู่บนฐานไพทีทางด้านตะวันตกของพระมณฑป เป็นที่ประดิษฐานพระบรมาสารีริกธาตุ ที่รัชกาลที่ 4 ได้มาจากลังกา พระศรีรัตนเจดีย์เป็นเจดีย์ทรงกลมแบบลังกา ก่ออิฐถือปูนประดับกระเบื้องโมเสกทอง ตั้งอยู่บนฐานเขียงมีมาลัย 3 ชั้น คั่นด้วยฐานบัวคว่ำบัวหงายรองรับองค์ระฆัง ถัดขึ้นไปเป็นบังลังคก์สี่เหลี่ยม มีเสาหานรองรับปล้องไฉน ปล้องไฉนเป็นบัวลูกแก้ว 20 ชั้น ต่อด้วยปลีและหยาดน้ำค้าง ประตูทางเข้ามี 4 ทิศ ทางเข้าเป็นรูปโค้งแหลม มีมุกประตู 4 ด้านทำเป็นหน้าบัน ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และนาคสะดุ้ง ตอนบนของซุ้มเป็นเจดีย์องค์เล็กลักษณะเดียวกับพระศรีรัตนเจดีย์ทุกประการ

บานประตูหูช้างทำด้วยไม้ปิดทองประดับกระจกลงยาช่อดอกไม้ กรอบประตูตอนบนเป็นรูปพญานาค 2 ตัว หางชนกันตรงกลางห้อยเศียรลงมาด้านข้าง

ปราสาทพระเทพบิดร หรือพระพุทธปรางค์ปราสาท


เป็นปราสาทจตุรมุข มีมุขเด็จ 3 มุข ขนาดกว้าง 25.55 เมตร ยาว 28.35 เมตร ตั้งอยู่บนฐานไพมีระหว่างพระอุโบสและหอพระมณเฑียร เป็นปราสาทจตุรมุขยอดปรางค์ มีทางขึ้นจากฐานไพที 4 ทิศ ปูหินอ่อน พนักบันไดปูกระเบื้องเคลือบสีขาว พนักอัฐจันทร์ทางขึ้นเป็นพลสิงห์ บันไดนาค 5 เศียร สวมมงกุฏปิดทองประดับกระจก ส่วนบันไดทางด้านตะวันออกเป็นรูปอัปสรสีห์ 2 ตน ยืนประดับบันได ผนังปราสาทก่ออิฐฉาบปูน ประดับกระเบื้องเคลือบสีลายพุ่มข้าวบิณฑ์ เสาเป็นเสาก่ออิฐถือปูนย่อมุมไม้สิบสอง พื้นเสาประดับกระเบื้องสีเขียวลายไทย เสาอิงเป็นเสาย่อมุมไม้สิบสอง ขอบเสาปั้นปูนเป็นลายรักร้อยปิดทองประดับกระจก ฐานเสาเป็นกาบพรหมศรปิดทองประดับกระจกสีเขียว ซุ้มประตูหน้าต่างเป็นซุ้มยอดทรงมงกุฏ ปิดทองประดับด้วยกระจกสี เสาซุ้มประดับด้วยแผ่นโลหะลงยา เพดานซุ้มเป็นลายดวงดาราของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ 5 ดวง บานหน้าต่างเป็นลายรดน้ำพุ่มข้าวบิณฑ์เทพนม ด้านในเป็นทวารบาลรูปเทวดาเหยียบสิงห์

หลังคาแบบจตุรมุขลด 4 ชั้น เฉพาะด้านหน้าทางทิศตะวันออกลด 5 ชั้น กึ่งกลางมุขทั้งสี่เป็นยอดปรางค์ประดับกระเบื้องสีเขียวอ่อนตลอดองค์

มุขเด็จรับยอดปรางค์เป็นเสาย่อมุมไม้สิบสองประดับกระเบื้อง ยอดนพศูลเป็นรูปพระมหามงกุฏโลหะปิดทอง พระบรมราชสัญลักษณ์ของรัชกาลที่ 4 หลังคามุงด้วยกระเบื้องสี ประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และนาคสะดุ้ง มุขด้านหน้า ( ตะวันออก ) ระหว่างเสาทางเข้าประตู ประดับด้วยรวงผึ้งและสาหร่าย ปลายลายเป็นเทพนม

ถัดจากหน้าบัน ประดิษฐานพระมหามงกุฏประดับฉัตรสองข้าง บนพื้นสีน้ำเงินคือ
พระบรมราชสัญลักษณ์ของรัชกาลที่ 4
กลางหน้าบันมุขด้านทิศเหนือเป็นรูปอุณาโลม คือ พระบรมราชสัญลักษณ์ของรัชกาลที่ 1
กลางหน้าบันมุขทิศใต้เป็นรูปครุฑยุดนาค คือ พระบรมราชสัญลักษณ์รัชกาลที่ 2
กลางหน้าบันมุขทิศตะวันตกเป็นรูปพระวิมาน คือ พระบรมราชสัญลักษณ์รัชกาลที่ 3

ภายในปราสาทเป็นโถง 8 เหลี่ยม ประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชวงศ์จักรี หล่อด้วยสำริดรมดำบนฐานย่อเก็จเป็นฐานสิงห์รองรับด้วยรูปมารแบกและครุฑแบก

พระมณฑป


ตั้งอยู่ด้านหลังปราสาทพระเทพบิดร สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 สำหรับประดิษฐานพระไตรปิฎกฉบับทองแทนหอมณเฑียรธรรมหลังเดิมที่ถูกเพลิงไหม้ พระมณฑปเป็นอาคารสี่เหลี่ยมทรงมณฑป มีขนาดกว้าง 15.50 เมตร ยาว 15.70 เมตร มีชาลาและกำแพงแก้วล้อมรอบทุกชั้น หลังกำแพงแก้วประดับด้วยโคมทองแดงปรุ มีฉัตรทำด้วยทองแดงลงรักปิดทองปักอยู่หัวเสารอบทั้งสี่มุม และพระเจดีย์ทองทรงเครื่องอย่างละชนิด บันไดขึ้นฐานทักษิณมี 8 บันได ราวทำเป็นรูปนาคสวมมงกุฏ ส่วนบันไดขึ้นฐานปัทม์(ชั้นบน) ทำเป็นรูปคนสวมมงกุฏนาค เรียกว่า นาคจำแลง ผนังพระมณฑปประดับเป็นลายนูนต่ำปิดทองประดับกระจก

ตอนล่างผนังเป็นฐานปัทม์ มีเทพนมเรียงอยู่ชั้นบน มีครุฑและอสูรพนมมืออยู่แถวล่าง เสาเหลี่ยมจตุรัสย่ยมุมไม้สิบสองตั้งรอบองค์พระมณฑปปิดทองประดั้บด้วยกระจกสี ซุ้มพระทวารเป็นซุ้มยอดทรงมณฑป ปิดทองประดับกระจกบานแผละเป็นลายกำมะลอมีทองพื้นม่วง รูปเซี่ยวกางถือหอกและตรี ยืนเหยียบหลังสิงห์โต แผ่นบานประตูด้านนอกประดับมุขลายกระหนกก้านขดนกคาบ

ตรงกลางเป็นราชสีห์ หลังคาเป็นทรงมณฑป 7 ชั้น ย่อมุมไม้สิบสอง มีนาค 3 เศียร ประดับกระจกเขียว หลังคามุงกระเบื้องสีเขียวขลิบทองถึงคอเหม ปลีและยอดมณฑปประดับกระจกสีเป็นลายกริชมีลูกแก้วทอง ยอดสูงสุดประดับฉัตร 5 ชั้น ภายในมณฑปนั้นมีเสื่อสานด้วยลวดทำจากเงินปูลาด ตู้ที่ประดิษฐานอยู่กลางมณฑปเป็นตู้มุขทรงมณฑปเครื่องยอดประกอบด้วยบันแถลงปักโดยตลอดลดหลั่นกันไปเรียงรายกันอยู่

ในเทศกาลสงกรานต์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินสรงน้ำที่พระไตรปิฏกพร้อมกับพระศรีรัตนเจดีย์

หอมณเฑียรธรรม


สร้างขึ้นภายหลังเมื่อไฟไหม้หอมณเฑียรธรรมหลังเดิม อยู่ทางด้านเหนือของปราสาทพระเทพบิดร เคยเป็นที่บอกหนังสือพระสงฆ์และเป็นที่แปลพระราชสาส์น ปัจจุบันเป็นที่เก็บพระไตรปิฎกฉบับต่าง ๆ ประดิษฐานไว้ในตู้ลายรดน้ำและตู้ประดับมุขตั้งอยู่ทางทิศเหนือของปราสาทพระเทพบิดร เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า

ด้านตะวันออกมีขนาดกว้าง 17 เมตร ยาว 30 เมตร ด้านหน้าอยู่ทางทิศตะวันตกมีประตู 3 ประตู

ด้านหลังอยู่ทิศตะวันออกมีประตู 2 ประตู มีหน้าต่างข้างละ 7 บาน หลังคาจั่วซ้อนกัน 4 ชั้นมีมุกลดด้านหน้าและด้านหลัง หน้าจั่วเป็นรูปพระพรหมทรงหงส์อยู่เหนือพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณสามเศียร ใต้จั่วเป็นเทพนมเรียงกัน 5 องค์ อยู่ภายใต้ซุ้มเรือนแก้ว ตัวเสาย่อมุมไม้สิบสอง ปลายเสาเป็นบัวจงกล

ซุ้มประตูทางเข้าตรงข้ามกับหอพระวิหารยอด เป็นซุ้มทรงมณฑปจอมแหปูนปั้นปิดทอง บานประตูประดับมุก เป็นบานประตูที่นำมาจากวัดพุทฑาราม มีระเบียงและพาไลรอบอาคาร หน้าต่างเป็นซุ้มทรงบันแถลงนาคสามเศียรสองชั้น ตอนบนติดไม้แกะสลักรูปคูหาหน้านาง ลวดลายภายในเป็นรูปขุนกระบี่(หนุมาน) อันเป็นพระราชสัญลักษณ์ของวังหน้า

ตอนล่างติดหย่องไม้แกะสลักป็นรูปพญานาค มีขุนกระบี่สอดแทรก เป็นสัญลักษณ์ศิลปะสกุลช่างวังหน้า ภายในหอพระแห่งนี้เขียนลายรดน้ำ ตอนบนเป็นเทพชุมนุม ตอนล่างเป็นเทพบุตรและเทพธิดา

หอคันธารราษฎร์


หอคันธารราษฎร์เป็นที่ประดิษฐานพระคันธารราษฎร์และพระแท่นมนังคศิลาอาสน์ของพระร่วง สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นอาคารทรงไทยขนาดเล็กรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 4.65 เมตร ยาว 5.75 เมตร ตั้งอยู่มุมขวามือหน้าพระอุโบสถ มีบันไดหินอ่อน 5 ขั้น ขึ้นฐานไพทีมีบันได 3 ขั้น ขึ้นฐานปัทม์สู่หอพระ บันไดเป็นรูปพญานาคตรงหัวเสาบนฐานไพที ตั้งสิงโตจำหลักหินแบบจีน

โดยรอบพนักระเบียงเป็นรูปกรงลูกแก้วกระเบื้องเคลือบ มีเสาตามประทีปสูง 2 เสา ทำด้วยกระเบื้องเคลือบเป็นปล้องต่อกันมุขทิศตะวันออกและตะวันตกเป็นหน้าต่างทรงบันแถลง 2 ชั้น มีช่อฟ้าและหางหงส์เป็นหัวนาค ประดับกระเบื้องถ้วยผูกลายเป็นดอกไม้สีต่าง ๆ บนพื้นกระจกสีน้ำเงิน บานหน้าต่างไม้ด้านนอกจำหลักลายเป็นรูปพระวรุณทรงนาค ตอนล่างเป็นรวงข้าว มีหอย ปู ปลา ผุดอยู่ในท้องน้ำ

หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา ขอบหลังคาสีแดง พื้นหลังคาสีเขียว หลังคาทรงบันแถลง 2 ชั้น ประดับช่อฟ้ารูปหัวนาค ใบระกา หางหงส์ หน้าบันประดับกระเบื้องถ้วยสีลายดอกพุดตาน

ซุ้มยอดปรางค์เป็นซุ้มย่อเก็จโดยรอบ ยอดปรางค์ซ้อนกัน 8 ชั้น ประดับกระเบื้องถ้วยสี ยอดนพศูลเป็นโลหะรูปฝักเพกา ผนังอาคารบุด้วยกระเบื้องสีน้ำเงินสลับเหลือง มุมเสาอิงประดับกระเบื้องสี ขอบเสาประดับกระเบื้องถ้วยเป็นลายรักร้อย โคนเสารูปกาบพรหมศร มีบัวปลายเสา

เขียนภาพจิตรกรรมเรื่องพระราชพืธีพืชมงคลจรดพระนางคัลแรกนาขวัญและพิรุณศาสตร์ภายในผนังด้านใน

หอพระนาก


ตั้งอยู่ด้านหลังพระวิหารยอดเดิมเป็นที่ประดิษฐานพระนากซี่งเป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยนากทั้งองค์( ปัจจุบันตั้งเป็นประธานอยู่ในวิหารพระธาตุ ) หอพระนากปัจจุบันสร้างใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 3 โปรดให้ซ่อมแซมแปลงใหม่ให้ใหญ่กว่าเดิมเพื่อประดิษฐานพระอัฐิพระบรมวงศ์

ส่วนพระนากนั้นย้ายไปประดิษฐานที่พระวิหารยอด แต่ก็ยังนิยมเรียกว่า “หอพระนาก” หอพระนากเป็นอาคารทรงไทยขนาดกลาง กว้าง 10 เมตร ยาว 20.50 เมตร ยกพื้นสูงระดับบันได 5 ขั้น

ทางเข้าอยู่ทางด้านตะวันออก ตรงกับหอพระวิหารยอด เป็นชาลากว้างปูด้วยหินอ่อน เสาริมบันดั้งสองข้าง เป็นเสาสี่เหลี่ยมย่อมุมหัวเสาเม็ดทรงมัณฑ์ปิดทอง ประตูเป็นซุ้มทรงมณฑปปิดทองประดับกระจก หน้าบันเป็นไม้จำหลักรูปเทพนมครึ่งองค์ลอยจากบัวจงกล ล้อมรอบด้วยลายกระหนกก้านขดปลาย และลายรูปเทพพนมบนพื้นกระจกสี คลุมด้วยหลังคาโครงสร้างไม้ทรงไทยลด 3 ตับ

มีมุขลดทั้งด้านหน้าและด้านหลังมุงด้วยกระเบื้องดินเผา พื้นหลังคาสีแดงประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นาคสะดุ้งปิดทองประดับกระจก มีคันทวยรับชายหลังคาโดยรอบ ตัวอาคารก่ออิฐฉาบปูนขาว มีเสาอิงย่อมุมโดยรอบอาคาร หัวเสาเป็นบัวจงกลประดับกระจกสี หน้าต่างระหว่างเสาเป็นซุ้มทรงบันแถลงนาคสามเศียร 2 ชั้น ด้านนอกบานหน้าต่างเขียนลายรดน้ำพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง

พระวิหารยอด


อยู่ระหว่างหอมณเฑียรธรรมและหอพระนาก

พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างขึ้นแทนที่หอพระเทพบิดร เรียกกันเป็นสามัญว่า วิหารขาว เป็นหอที่ใช้ประดิษฐานพระเทพบิดร พระนาก และพระแท่นมนังคศิลาของพ่อขุนรามคำแหง

ลักษณะของพระวิหารยอดเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง 10.35 เมตร ยาว 10.50 เมตร มีทางเข้า 3 ทาง คือ ทิศเหนือ ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก บันไดปูด้วยหินทราย 3 ขั้น สองข้างบันไดประดับด้วยนกทัณฑิมาสัมริด ยืนถือกระบอง พนักระเบียงประดับกระเบื้องปรุเคลือบแบบจีน ประตูเป็นซุ้มยอดทรงมงกุฏประดับกระเบื้องถ้วย บานประตูประดับมุข บานด้านในเขียนลายรดน้ำรูปเซี่ยวกางแต่งกายแบบไทย เป็นบานประตูที่นำมาจากวิหารพระนอน วัดป่าโมก จ.อ่างทอง เสาอิงและเสาจตุรมุขทั้ง 4 ด้านประดับด้วยกระเบื้องถ้วยเป็นรูปบัวจงกล

ซุ้มผนังเป็นช่องโค้งทรงแหลมแบบคูหาหน้านางประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีเป็นลายดอกไม้ใบไม้ ยอดซุ้มเป็นพระปรมาภิไธยย่อ “จปร.”อยู่ใต้พระเกี้ยวยอด ซุ้มหน้าต่างยอดทรงมงกุฏทุกช่วงเสาประดับกระเบื้องถ้วย

หลังคาเป็นทรงยอดมงกุฏ หน้าบันทั้ง 4 ด้านประดับกระเบื้องถ้วย ยอดซุ้มเป็นปลีประดับกระจกสี มียอดนพศูลเป็นโลหะฉลุโปร่งลายพุ่มข้าวบิณฑ์ หลังคามุขลดสองชั้น มุงด้วยกระเบื้องดินเผาเคลือบ ประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์รูปนกเจ่า และนาคสะดุ้ง

นครวัดจำลอง


อยู่ด้านเหนือพระมณฑปเป็นปราสาทหินจำลองมียอดปรางค์ 9 ยอด ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมกว้าง12.70 เมตร ยาว 14.25เมตร

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้พระยาสามภพพ่ายออกไปถ่ายแบบปราสาทนครวัดของเมืองเสียมราฐประเทศกัมพูชาเพื่อให้ประชาชนได้ชมเพราะถือว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ชั้นหนึ่งของโลก

พระโพธิธาตุพิมาน


อยู่ระหว่างกลางของหอราชกรมานุสรและหอพระราชพงศานุสร เป็นที่ประดิษฐานพระโพธิธาตุพิมานซึ่งเป็นเจดีย์ทรงปรางค์ปิดทองอยู่ในบุษบกทรงมงกุฏประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสี ทำเป็นรูปดอกไม้ ใบไม้ เพดานและเสาด้านในมณฑปปั้นลวดลายอย่างฝรั่งปิดทอง ภายในประดิษฐานพระปรางค์โบราณที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มาจากเมืองเหนือครั้งยังทรงผนวช ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุจากพุทธคยา

พระบรมราชานุสาวรีย์ประจำรัชกาล


ตั้งอยู่รอบพระมณฑป สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นบุษบกสร้างด้วยโลหะลงรักปิดทองประดับกระจก รอบบุษบกประดับด้วยฉัตร 7 ชั้น และ 5 ชั้น และรูปช้างยืนแท่นหล่อด้วยโลหะรมดำ ถือกันว่าเป็นช้างเผือกประจำรัชกาล

ภายในบุษบกประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระมหากษัตริย์กรุงรัตนโกสินทร์ ดังนี้

ด้านตะวันตกเฉียงเหนือเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ในรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3

ด้านตะวันตกเฉียงใต้เป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ในรัชกาลที่ 4

ด้านตะวันออกเฉียงใต้เป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ในรัชกาลที่ 5

และในการปฏิสังขรณ์ใหญ่เนื่องในการสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปีได้สร้างบุษบกพระบรมราชานุสาวรีย์ในรัชกาลที่ 6 ถึงรัชกาลปัจจุบันเพิ่มขึ้น โดยประดิษฐานไว้ด้านตะวันออกเฉียงเหนือ

พระอัษฎามหาเจดีย์ หรือพระปรางค์แปดองค์


ตั้งเรียงรายอยู่ด้านนอกพระอาราม พระปรางค์ 8 องค์ เส้นผ่าศูนย์กลาง 9.40 เมตร

ตั้งเรียงรายอยู่ทางทิศตะว้นออกด้านหน้าวัด เดิมพระปรางค์ทั้ง 8 องค์จะตั้งเรียงกันอยู่นอกพระระเบียงเป็นแถวเดียวกัน

ต่อมารัชกาลที่ 4 ทรงโปรดให้ขยายพระวิหารคดยื่นออกไปทางทิศตะวันออก เพื่อสร้างซุ้มประตูมงกุฏ และให้มีเกยอยู่ 2 ด้าน สำหรับเสด็จบนพระยานุมาศในพระราชพิธีการที่มีการเสด็จโดยทางสถลมารค เมื่อขยายวิหารคดออกไปจึงทำให้พระปรางค์ 8 องค์เข้ามาอยู่ในกำแพงวิหารคด คือ พระอริยะสงฆ์สาวกมหาเจดีย์ พระปรางค์สีชมพู พระอริยสาวกภิกษุณีสังฆมหาเจดีย์ พระปรางค์สีเขียว ลักษณะของปรางค์ คือ ฐานเป็นรูปแปดเหลี่ยม ก่ออิฐฉาบปูน องค์ปรางค์ตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นประดับกระเบื้องเคลือบสี มียักษ์ปูนปั้นแบกพระปรางค์ไว้โดยรวมทั้ง 4 ทิศ นับเป็นศิลปะชั้นสูง พระปรางค์ทั้ง 8 องค์สร้างขึ้นมาเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา '

จึงมีชื่อเรียกเรียงตามาลำดับนับจากทิศเหนือลงมาทิศใต้ ดังนี้
ปรางค์องค์สีขาว ชื่อ พระสัมมาสัมพุทธมหาเจดีย์ อุทิศถวายแด่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ปรางค์สีขาบหรือสีฟ้าหม่น ชิ่อ พระสัทธรรมปริยัติวรมหาเจดีย์ อุทิศถวายแด่พระธรรม

ปรางค์สีชมพู ชื่อ พระอริยสงฆ์สาวกมหาเจดีย์ อุทิศถวายแด่พระอริยสงฆ์

ปรางค์สีเขียว ชื่อ พระอริยสาวิกาภิกษุสังฆมหาเจดีย์ อุทิศถวายแด่พระภิกษุณี

ปรางค์สีเทา ชื่อ พระปัจเจกโพธิสัมพุทธมหาเจดีย์ อุทิศถวายแด่พระพุทธเจ้าในอดีตชาติ

ปรางค์สีฟ้าอมเทา ชื่อ พระบรมจักรวรรดิราชามหาเจดีย์ อุทิศถวายแด่พระมหากษัตริย์

ปรางค์สีแดง ชื่อ พระโพธิสัตว์กฤษฎามหาเจดีย์ อุทิศถวายแด่พระโพธิสัตว์

ปรางค์สีเหลือง ชื่อ พระศรีอริยเมตตะมหาเจดีย์ อุทิศถวายแด่พระพุทธเจ้าในอนาคต

พระมณฑปยอดปรางค์


พระมณฑปสร้างขึ้นพร้อม ๆ กับหอพระคันธารราษฎร์ เพื่อประดิษฐานพระเจดีย์โบราณ ในสมัยรัชกาลที่ 4 ตั้งอยู่บนฐานทักษิณ 2 ชั้น รูป 8 เหลี่ยม แต่ละชั้นมีชาลา กว้าง 1 เมตร มีพนักโดยรอบเป็นกรงลูกแก้วกระเบื้องเคลือบสีขาว มีบันได แคบ ๆ ปูด้วยหินอัคนีด้านหอพระคันธารราษฎร์ (ทิศเหนือ) ขึ้นไปยังมณฑป ยอดมณฑปเป็นยอดปรางค์ย่อมุมไม้สิบสอง ประดับกระเบื้องสี่เหลี่ยมจตุรัสสีน้ำเงินสลับเขียวและเหลือง ส่วนย่อมุมเป็นบัวโคนเสาและบัวปลายเสา ประดับกระเบื้องถ้วยสีเขียวสลับขาว ตรงกลางผนังทั้ง 4 ด้าน เว้าเป็นช่องโค้ง 3 โค้ง

ด้านล่างช่องโค้งเป็นพนักลูกกรงกระเบื้องเคลือบ ยอดมณฑปเป็นซุ้มย่อเก็จโดยรอบ ตอนบนเป็นยอดปรางค์ 3 ชั้น ประดับด้วยกระเบื้องถ้วยสีขาว ยอดนภศูลเป็นโลหะรูปฝักเพกา

ภายในพระมณฑปประดิษฐานพระเจดีย์ทรงกลมแบบลังกา มีซุ้มจรนำ 4 ทิศ ถัดขึ้นไปเป็นบัลลังค์ 8 เหลี่ยม รับปล้องไฉน ตอนบนเป็นปลีและเม็ดน้ำค้าง ยอดนภศูลเป็นโลหะรูปมงกุฎ

หอระฆัง


ตั้งอยู่บนฐานทักษิณ หอระฆังเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้าง 7 เมตร ยาว 8 เมตร เป็นบุษบกทรงมงกุฏ

หลังคามุงกระเบื้องดินเผาเคลือบ ปูขอบหลังคาสีเขียวโดยรอบ พื้นหลังคาสีแดง มีประตูทางเข้า 4 ด้าน เป็นซุ้มจระนำรูปโค้งแหลมประดับด้วยกระเบื้องเคลือบ ตอนบนซุ้มเป็นทรงบันแถลงนาค 3 เศียร 2 ชั้น มีช่อฟ้าและหางหงส์รูปหัวนาค กรอบประตูเป็นไม้ทาสีเขียว ผนังฐานทักษิณประดับด้วยกระเบื้องก้นถ้วย รูปกลมสีขาวเป็นพื้น ประดับกระเบื้องถ้วยแต่งดอก ตอนล่างทำเป็นบัวหัวเสา ตอนบนเป็นบัวปลายเสา ประดับกระเบื้องถ้วยขอบนอกเป็นลายรักร้อย บุษบกประดิษฐานระฆังอยู่บนฐานเขียงและฐานสิงห์ 2 ชั้น คั่นด้วยกระดานฐานบัว ส่วนย่อมุมไม้สิบสองเป็นไม้ปิดทองประดับกระจก ฐานเสาเป็นกาบพรหมศร หัวเสามีคันทวยรับชายคาโดยรอบ ตอนบนระหว่างเสาประดับด้วยสาหร่ายรวงผึ้ง ปลายเป็นพญานาคปิดทอง

ตอนล่างของเสาประดับด้วยกระจังปูนปั้นประดับกระจก เพดานปิดทองฉลุลายเป็นรูปดาว แขวนระฆังไว้ตรงกลางเพดานบุษบก

พระเจดีย์ทอง 2 องค์


รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าให้สร้างเพื่ออุทิศถวายแด่พระราชบิดาและพระราชมารดา องค์ทางด้านทิศใต้ อุทิศถวายพระปฐมบรมมหาชนก พระราชบิดา องค์ด้านทิศเหนืออุทิศถวายพระราชมารดา

เจดีย์ทั้งสององค์มีลักษณะและขนาดเหมือนกันทุกอย่าง คือ เป็นเจดีย์ทรงเครื่องย่อมุมไม้สิบสอง หุ้มด้วยแผ่นทองแดง หรือ จังโก้ ลงรักปิดทองทับอีกชั้นตลอดองค์เจดีย์ ตั้งอยู่บนฐานแปดเหลี่ยม ฐานกว้าง 8.50 เมตร สูงจากพื้นประมาณ 16 เมตร แต่ละชั้นลดสูงประมาณ 1 เมตร บุด้วยหินอ่อนจำหลักลายกากบาท เหนือฐานขึ้นไปเป็นรูปพญามาร(ยักษ์)และขุนกระบี่(ลิง) ทำด้วยปูนปั้นปิดกระจกสีแบกพระเจดีย์ทั้งหมด 20 ตน เฉพาะตรงกลางฐานทั้ง 4 ด้าน เป็นรูปขุนกระบี่ เหนือขึ้นไปเป็นฐานสิงห์ 3 ชั้น แต่ละชั้นคั่นด้วยหน้ากระดาน 6 ชั้น เป็นฐานบัวหงายรองรับองค์ครรภธาตุทรงจอมแห แต่งลายรูปดอกบัวอยู่กึ่งกลางทั้ง 4 ต้น ถัดไปเป็นยอดรัตนบัลลังก์ทำเป็นบัวกลุ่ม 9 ชั้น ยอดนภศูลเป็นโลหะฉลุโปร่งปิดทองทรงพุ่มข้าวบิณฑ์

หอพระราชพงศานุสรและหอพระราชกรมานุสรณ์


หอพระราชพงศานุสรและหอพระราชกรมานุสรณ์ ตั้งอยู่ขนาบข้างพระโพธิธาตุพิมาน ซึ่งอยู่ที่กำแพงแก้วด้านหลังพระอุโบสถ หอพระราชกรมานุสรณ์ กว้าง 5.75 เมตร ยาว 7.00 เมตร

ภายในหอนี้ประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ที่สร้างอุทิศถวายแด่สมเด็จบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าครั้งกรุงศรีอยุธยา 33 พระองค์และสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี รวมเป็น 34 พระองค์

และภายในมีจิตรกรรมฝาผนังภาพพระราชพงศาวดาร เหตุการณ์สมัยพระนเรศวร หอพระราชพงศานุสรณ์ กว้าง 5.75 เมตร ยาว 7.00 เมตร

ภายในหอนี้ประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆ ที่ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 8 รัชกาล และภายในมีจิตรกรรมฝาผนังภาพพระราชพงศาวดาร เหตุการณ์ณ์สมัยพระเจ้าตากสินกรงธนบุรีตีเมืองจันทบุรี

รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้า ฯ ให้หล่อพระพุทธรูปทองแดงขึ้น 37 องค์ เพื่ออุทิศถวายพระเจ้าแผ่นดินแห่งกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรี

รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้า ฯ ให้หล่อฐานเขียงและกะไหล่ทองทุกองค์ พร้อมจารึกพระนามอุทิศถวายพระเจ้าแผ่นดินสมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรี 34 องค์ อีก 3 องค์อุทิศถวายพระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้า ฯ ให้หล่อพระพุทธรูปลักษณะเหมือนพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษาในรัชกาลที่ 4

รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระพุทธรูปปางคันธารราฐ อุทิศถวายพระบาทสมด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

และรัชกาลที่ 7 โปรดเกล้า ฯ ให้หล่อพระพุทธรูปนั่งที่ทรงผ้าคลุม อุทิศถวายสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมา รัชกาลปัจจุบัน โปรดเกล้า ฯให้หล่อพระพุทธรูปพระองค์หนึ่งนั่งห้อยพระบาทยกพระหัตถ์ขวาประทานอภัย และแบพระหัตถ์ซ้ายประทานพร อีกองค์หนึ่งเป็นปางสมาธิเพชร

บรรณนุกรม
กรมศิลปากร. รายงานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงตรวจ

การปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระบรมมหาราชวัง ในการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี พระพุทธศักราช 2525. กรุงเทพ ฯ : กรมศิลปากร, 2525.

จดหมายเหตุการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์.กรุงเทพฯ: กองจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร , 2525 .

น . ณ ปากน้ำ . ศิลปกรรมในกรุงเทพมหานคร. กรุงเทพ : ต้นอ้อ 1999 , 2542.

นิดดา หงส์วิวัฒน์. วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง. กรุงเทพ ฯ : แสงแดดเพื่อเด็ก, 2547.

แน่งน้อย ศักดิ์ศรี . พระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม. กรุงเทพฯ : ริเวอร์บุกส์ , 2543.

ประวัติวัดสำคัญทางพระพุทธศาสนา. วัดในรัตนโกสินทร์. กรุงเทพ ฯ : แปลนรีดเดอรส์ , 2546 .

สมบัติ จำปาเงิน. นำเดินพระบรมมหาราชวังและวัดพระแก้ว. กรุงเทพฯ : 2020 เวิลด์ มีเดีย, 2542.

เสนอ นิลเดช. วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดพระแก้ว. กรุงเทพ ฯ : การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, 2518.

อุทุมพร อมรดรุณารักษ์. วังหลวง. กรุงเทพ ฯ : องค์การค้าคุรุสภา, 2526.

http://www.lib.su.ac.th
Gallery

                      
ที่ตั้ง:
ตั้งอยู่มุมพระบรมมหาราชวังด้านตะวันออก ในเขตพระราชฐานชั้นนอก ภายในพระบรมมหาราชวัง ตรงข้ามมหาวิทยาลัยศิลปากร ถนนหน้าพระลาน ข้างสนามหลวง กรุงเทพมหานคร

เวลาทำการ:
ทุกวัน 08.30-15.30 น.
คนไทยเข้าชมฟรี ชาวต่างชาติ 200 บาท

กิจกรรม-เทศกาล :
วันอาทิตย์ เทศนาธรรม 13.00 น.
วันพระ: เทศนาธรรม 09.00 น.
และ13.00 น.
มัคคุเทศน์ 10.00 น. และ 14.00 น.

ข้อห้าม:
ห้ามถ่ายรูปในพระอุโบสถ

การแต่งกาย:
ผู้ชาย: ห้ามใส่กางเกงขาสั้น รองเท้าแตะ
ผู้หญิง: ห้ามใส่เสื้อกล้าม ใส่เสื้อไม่มีแขนกางเกงสามส่วน รองเท้าแตะ


อาคารต่างๆในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
1.The Ubosot containig the Emerald Buddha - พระอุโบสถ
2.Twelve small open Pavilions - ศาลาราย
3.Viharn of the Gandhara Buddha image - หอพระคันธารราษฏร์
4.Belfry - หอระฆัง
5.Hor Racha Pongsanusorn - หอราชพงศานุสรณ์
6.Phra Photithat Piman - พระโพธิ์ธาตุพิมาน
7.Ho Racha Koramanusorn - หอราชกรมานุสรณ์
8.Figure of the seated hermit - พระฤๅษี
9.The Royal Pantheon - ปราสาทพระเทพบิดร
10.Two gilt chedis - พระสุวรรณเจดีย์
11.Phra Mondop (the Library) - พระมณฑป
12.Phra Si Rattana Chedi - พระศรีรัตนเจดีย์
13.Model of Angkor Wat - นครวัดจำลอง
14.Monument of Kings Rama I, II and III - พระบรมราชสัญลักษณ์ 9 รัชกาล
15.Monument of King Rama IV - พระบรมราชสัญลักษณ์ 9 รัชกาล
16.Monument of King Rama V - พระบรมราชสัญลักษณ์ 9 รัชกาล
17.Monument of Kings Rama VI, VII, VIII and IX - พระบรมราชสัญลักษณ์ 9 รัชกาล
18.Ho Phra Monthien Tham (the Supplementary Library) - หอมณเฑียรธรรม
19.Viharn Yod - พระเศวตกุฏาคารวิหารยอด
20.Viharn Phra Nak - หอพระนาก
21.Eight prang - พระปรางค์
22.Galleries - พระระเบียง
23.Twelve statues of Giants - ยักษ์ทวารบาล

© 2015 undv.org / United Nations Day of Vesak
More information please contact:
ICDV & IABU Office
401,Zone D, D400 4th floor, School Building,
Mahachulalongkornrajavidyalaya University Lamsai, Wang Noi, Ayutthaya 13170
Tel: + 662 623 6323, 66 35 248 098 Fax: + 66 35 248 099
Email: vesak.undv@gmail.com