เนื่องในวันวิสาขบูชาโลก




ปฏิญญากรุงเทพฯ ๒๕๕๔
การประชุมชาวพุทธนานาชาติ ครั้งที่ ๘
ระหว่างวันที่ ๑๒ – ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๔

เนื่องในวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก
ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ
และ พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม


เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๒ ผู้แทน ๓๔ ประเทศได้เสนอต่อที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติให้วันวิสาขบูชา ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือนพฤษภาคม เป็นวันสำคัญสากลของโลก และขอให้มีการจัดงานฉลองที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติและสำนักงานประจำภูมิภาคต่างๆ ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติได้มีมติรับรองตามนั้น (ในสมัยที่ ๕๔ วาระที่ ๑๗๔) ดังนั้น วันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก จึงได้ก่อกำเนิดขึ้นในปี ๒๕๔๓ ด้วยความร่วมมือของชาวพุทธทุกนิกาย เพื่ออนุวัตรตามมติที่ประชุมสหประชาชาติ พวกเราจาก ๘๕ ประเทศและภูมิภาค จึงได้เดินทางมาฉลองวันวิสาขบูชา เข้าประชุมร่วมกัน ระหว่างวันที่ ๑๒ – ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ โดยมีเจ้าภาพหลักคือ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งรัฐบาลไทยให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมแห่งประเทศไทย

ในการประชุมที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ และพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ที่ประชุมได้เสนอหัวข้อการประชุมว่าด้วยเรื่อง "พุทธธรรมกับการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ" อันเป็นการส่งเสริมความเข้าใจและความร่วมมือร่วมกัน ระหว่างองค์กรและปัจเจกบุคคลต่างๆ จากพระพุทธศาสนาทุกนิกาย และที่ประชุม ได้สรุปมติเป็นเอกฉันท์ ดังต่อไปนี้
(๑) เพื่อฉลองพุทธศตวรรษที่ ๒๖ แห่งการตรัสรู้สัมโพธิญาณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ก่อตั้งพระพุทธศาสนาที่มีคุณูปการแก่มวลมนุษยชาติ ที่ประชุมมีมติให้อำนวยความสะดวกและส่งเสริมกิจกรรมทางด้านวิชาการ วัฒนธรรมและทางศาสนาตลอดทั้งปี อันถือเป็นงานฉลองพุทธชยันตี ทั้งในระดับชาติและระดับสากล

(๒) เพื่อเป็นการถวายเป็นราชสักการะ ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๔ พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชแห่งประเทศไทย ที่ประชุมจึงมุ่งส่งเสริมประชาชนทุกระดับชั้นให้รับทราบอย่างกว้างขวาง และดำเนินตามรอยพระยุคลบาท วิสัยทัศน์ และพระเมตตาที่พระองค์ทรงมีแก่ปวงประชา ดังตัวอย่างโครงการหลวงมากกว่า ๔,๐๐๐ โครงการ เป็นต้น

(๓) ยิ่งไปกว่านั้น เพื่อเป็นการระลึกถึงโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๔ พรรษา ที่ประชุมจึงสนับสนุนให้มีการจัดประชุมสมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติครั้งที่ ๒ ในเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๔

(๔) เพื่อเป็นการสนับสนุนให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ได้ประยุกต์ใช้หลักคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้ากับสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ส่งเสริมให้ทุกคนได้ทราบถึงปรัชญาเศรษฐกิจเชิงพุทธซึ่งประสบความสำเร็จอย่างดี เช่น ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ประชุมจึงกระตุ้นเตือนให้โลกที่ประกอบธุรกิจเปิดโอกาสแรก ให้ความสำคัญในการการผลิตสินค้าและการบริการที่จำเป็น ก่อนการผลิตสินค้าบริโภคที่ไม่จำเป็น

(๕) ด้วยเป็นที่ทราบกันดีถึงผลกระทบที่เกิดแก่คนทั้งโลกว่า ปัญหาด้านสังคม - เศรษฐกิจของประเทศหนึ่งนั้น มิใช่ว่าจะจำกัดวงอยู่เพียงในขอบเขตของประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบไปถึงหลายๆ ประเทศ ที่ประชุมจึงให้ส่งเสริมศีลธรรมทั่วโลก อันจะช่วยนำทางให้มนุษยชาติ โดยปลูกฝังพุทธจริยธรรม ปฏิบัติกรรมฐาน และใช้ปัญญาในการแก้ปัญหาชีวิตประจำวัน

(๖) เพื่อเตือนสติมวลมนุษยชาติ ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางสังคม เศรษฐกิจ และทางธรรมชาติแบบยั่งยืน ที่ประชุมจึงย้ำความจำเป็นด้านความสมดุลย์ ทางสายกลางอย่างเร่งด่วน ระหว่างความเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และทางด้านวัตถุด้านหนึ่ง กับความเจริญก้าวหน้าทางวัฒนธรรม ศีลธรรม และทางด้านจิตใจอีกด้านหนึ่ง

(๗) ด้วยทราบถึงปัญหาทางสังคม ปัญหาครอบครัว ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาศาสนาและการเมือง ที่มวลมนุษย์เผชิญหน้าอยู่ และด้วยความเชื่อมั่นในความสามารถของมนุษย์ที่จะขจัดสิ่งท้าทายเหล่านั้นได้ ที่ประชุมจึงพูดย้ำให้เห็นคุณค่าแห่งความกรุณา ความเมตตา ความรัก ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การให้อภัย ความเคารพซึ่งกันและกัน ความเข้าใจอันดีต่อกัน และความเชื่อมั่น รวมทั้งส่งเสริมให้รู้คุณค่าของการพูดอย่างมีสติยั้งคิด การประนีประนอมกัน ความสามัคคีกลมเกลียว และความสงบสันติ

(๘) ด้วยเล็งเห็นมิติทางสังคมที่ต้องมีความกลมเกลียวกัน และเพื่อเป็นการเรียกร้องให้นำภูมิปัญญาที่สำคัญของพระพุทธศาสนามาใช้ โดยเน้นถึงสุขภาพจิต ทัศนะทางด้านจิตวิทยา และทางด้านสังคมที่หลากหลาย โดยมุ่งปรับปรุงสังคมให้ดีขึ้น ที่ประชุมจึงส่งเสริมให้มีแต่มิตรภาพ มีวัฒนธรรมให้ความเคารพและให้ความร่วมมือซึ่งกันและกัน ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานการพึ่งพาอาศัยกันและกัน ตลอดถึงการพัฒนาคุณธรรมด้านการผลิตและการบริโภคอย่างมีสติ

(๙) เพื่อแสดงความเห็นใจผู้ประสบภัยธรรมชาติ เช่น สึนามิในญี่ปุ่น แผ่นดินไหวในนิวซีแลนด์ น้ำท่วมและพายุไต้ฝุ่นในส่วนอื่นๆ ของโลก และโดยพิจารณาเห็นว่าสิ่งแวดล้อมโลกกำลังถูกทำลายอย่างไม่ตั้งใจ และประสงค์จะให้มวลมนุษยชาติหลีกเลี่ยงการทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้ตนและสรรพสัตว์ต้องพลอยเดือนร้อนไปด้วย โดยให้ตระหนักไปที่มลภาวะเป็นพิษ, ฝนกรด, ผลกระทบเรือนกระจก, หลุมชั้นบรรยากาศบกพร่อง, และการท้าทายสภาพแวดล้อมอื่นๆ อันเป็นเหตุให้โลกเสี่ยงภัย ที่ประชุมจึงสัญญาทำงานร่วมกับรัฐ องค์การภาคเอกชน (เอ็นจีโอ) และสื่อสาขาต่างๆ ในการพัฒนาให้ความรู้ด้านการศึกษาเพื่อรักษาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

(๑๐) เพื่อกระตุ้นเตือนให้สังคมและรัฐบาลนานาชาติ มุ่งทำงานเพื่อขจัดปัดเป่าความยากจนและความไม่ทัดเทียมกันทางด้านเศรษฐกิจ ส่งเสริมความเป็นภราดรภาพในมวลมนุษย์ชาติ และร่วมกันปฏิบัติตามหลักคำสอนสำคัญของพระพุทธเจ้า ที่ประชุมจึงปลุกชาวโลก ให้ทุกคนรู้จักสิทธิขั้นพื้นฐานของตน เพื่อมีความเป็นอยู่อย่างเป็นสุข

(๑๑) เพื่อรำลึกถึงพุทธศตวรรษที่ ๒๖ แห่งการตรัสรู้ เราจะจัดทำพระไตรปิฎกฉบับสากล ทั้งเถรวาท มหายาน และวัชรยาน ให้เสร็จสมบูรณ์ จัดพิมพ์ และแจกจ่ายให้แพร่หลายโดยไม่คิดมูลค่า ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนเข้าใจหลักธรรมและหลักปฏิบัติของชาวพุทธ ที่ประชุมจึงได้รวบรวมเป็นพระไตรปิฎกฉบับสมบูรณ์ โดยเชื่อมต่อกับแหล่งคัมภีร์ทางอีเล็กทรอนิคทั้งหมดอีกกว่า ๓๐ แห่ง ซึ่งเป็นคัมภีร์หลักๆ ทางพระพุทธศาสนาให้เข้ารวมกันเป็นระบบเดียว ให้ใช้งานได้ในเครือข่ายเดียวกัน ช่วยให้ผู้ใช้ได้เลือกคำแปลได้โดยง่าย

(๑๒) ยิ่งกว่านั้น เพื่อฉลองครบรอบพุทธศตวรรษที่ ๒๖ แห่งการตรัสรู้ ที่ประชุมจึงเรียกร้องให้รัฐบาลและองค์การยูเน็สโกที่เกี่ยวข้อง ได้เพิ่มความพยายาม ในการขุดค้นโบราณสถานในพระพุทธศาสนา พร้อมขอให้ช่วยอนุรักษ์ปูชนียสถานที่มีอยู่แล้ว รวมทั้งจัดให้ความคุ้มครอง และจัดหาแหล่งที่พักที่เหมาะสมให้แก่ผู้แสวงบุญชาวพุทธ

(๑๓) เพื่อพิทักษ์แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมสำคัญของโลก ๒ แหล่ง คือ ลุมพินี สถานที่ประสูติ และพุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ ที่ประชุมจึงย้ำชุมชนชาวพุทธทั่วโลกให้แสดงความห่วงใยอย่างแท้จริง และขอร้องให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องช่วยป้องกันผลกระทบอันตราย ที่เกิดจากภาวะมลพิษรอบๆ ปูชนียสถาน เป็นต้น
ลงวันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๔


หมายเหตุ ต้นฉบับเป็นภาษาอังกฤษ แปลโดย
๑. พระราชวรมุนี (พล อาภากโร) คณบดีคณะพุทธศาสตร์ มจร.
๒. พระศรีธวัชเมธี (ชนะ ธมฺมธโช) ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหาร


© 2015 undv.org / United Nations Day of Vesak
More information please contact:
ICDV & IABU Office
401,Zone D, D400 4th floor, School Building,
Mahachulalongkornrajavidyalaya University Lamsai, Wang Noi, Ayutthaya 13170
Tel: + 662 623 6323, 66 35 248 098 Fax: + 66 35 248 099
Email: vesak.undv@gmail.com